[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ขีปนาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
[[UGM-133 Trident II ]] ขณะทะยานพ้นจากผิวน้ำหลังจากถูกปล่อยจากเรือดำน้ำนิวเคลียร์ของกองทัพเรือสหรัฐในปี พ.ศ. 2527

ขีปนาวุธปล่อยจากเรือดำน้ำ (อังกฤษ: Submarine-launched ballistic missile หรือ SLBM) เป็นขีปนาวุธที่ติดตั้งและสามารถปล่อยจากเรือดำน้ำได้ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาจนสามารถบรรทุกหัวรบกลับสู่ชั้นบรรยากาศชนิดแยกเป้าโจมตีได้ หรือ MIRV ได้อีกด้วย โดยแต่ละหัวรบเป็นหัวรบนิวเคลียร์ที่สามารถกำหนดเป้าโจมตีแยกค่างหากจากกันได้ ระยะทำการของขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำในปัจจุบัน มีความใกล้เคียงกับขีปนาวุธข้ามทวีป ซึ่งมีระยะทำการมากกว่า 5,500 กิโลเมตร (3,000 ไมล์ทะเล)

ประวัติ

[แก้]

แนวคิดการปล่อยขีปนาวุธจากเรือดำน้ำได้รับการพัฒนาขึ้นในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่สอง และทวีความเข้มข้นขึ้นในยุคสงครามเย็น เรือดำน้ำโจมตีชั้นซูลู (Zulu-class submarine) ของสหภาพโซเวียตประสบความสำเร็จในการปล่อยขีปนาวุธติดเรือดำน้ำ R-11FM จากการยิงใต้น้ำได้เป็นครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ. 1955. ทางฝั่งกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นจากการปรับปรุงขีปนาวุธจูปิเตอร์ของกองทัพบก แต่ภายหลังหันมาพัฒนาจรวดเชื้อเพลิงแข็งซึ่งมีขนาดเล็กกว่า และเหมาะกับการติดตั้งในเรือดำน้ำมากกว่า. หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการกองทัพเรือสหรัฐ (Chief of Naval Operations) ในขณะนั้นจึงทุ่มทรัพยากรทางการวิจัยของกองทัพเรือเพื่อพัฒนาขีปนาวุธแบบเชื้อเพลิงแข็ง "โพลาริส" ขึ้น และประสบความสำเร็จในการยิงขีปนาวุธ โพลาริส-เอ1 จากเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวพลังงานนิวเคลียร์ (SSBN) ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน (SSBN-598) เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 1959. ในระยะแรกขีปนาวุธโพลาริสมีระยะโจมตีอยู่ในพิสัยกลาง คือ ราว 1,900 กิโลเมตร (1,000 ไมล์ทะเล) แต่พอถึงปลายทศวรรษที่ 1960 กองทัพเรือสหรัฐสามารถพัฒนาจรวดโพลาริสรุ่นใหม่ (โพลาริส-เอ3) ซึ่งมีรัศมีปฏิบัติการถึง 4,600 กิโลเมตร (2,500 ไมล์ทะเล) เป็นผลสำเร็จ. ด้วยเหตุนี้ขีปนาวุธทิ้งตัวติดเรือดำน้ำ (SLBMs) ของอเมริกาทั้งหมดจึงใช้เทคโนโลยีจรวดเชื้อเพลิงแข็งมาจวบจนปัจจุบัน

พอถึงช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 กองทัพเรือสหรัฐฯ ก็พัฒนาขีปนาวุธโพเซดอน ขึ้นเพื่อเข้าประจำการแทนที่โพลาริส. ขีปนาวุธโพเซดอนมีขีดความสามารถแบบ MIRV สูง โดยสามารถบรรทุกหัวรบที่โปรแกรมแยกเป้าโจมตีได้ถึง 14 หัวรบ และพอถึงปลายทศวรรษที่ '70s สหรัฐอเมริกาก็สามารถพัฒนาขีปนาวุธทอดตัวพิสัยไกลเพื่อติดตั้งในเรือดำน้ำนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ได้แก่ ขีปนาวุธไทรเดนท์ I (C-4) ซึ่งมีพิสัยโจมตีถึง 7,400 กิโลเมตร (4,000 ไมล์ทะเล) โดยสามารถติดตั้งหัวรบแยกเป้าโจมตีได้ 8 หัวรบ.