อุปราคา
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
อุปราคา คือ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เกิดขึ้นเมื่อวัตถุท้องฟ้าหนึ่ง เช่น ดาวเคราะห์หรือดาวบริวารมาอยู่ระหว่างต้นกำเนิดแสง (เช่น ดวงอาทิตย์) กับอีกวัตถุหนึ่ง
อุปราคาบนโลก
[แก้]อุปราคาที่สังเกตได้จากโลกไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะระนาบการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์กับระนาบการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกไม่ได้เป็นระนาบเดียวกัน แต่เป็นระนาบที่ตัดกันโดยจะเกิดขึ้นเมื่อโลก ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อยู่บนระนาบเดียวกันเท่านั้น
- อุปราคาที่มองเห็นได้ชัดเจนจากโลก ได้แก่
- จันทรุปราคา - โลกเข้าบังดวงอาทิตย์เมื่อมองดูจากดวงจันทร์ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ดวงจันทร์เคลื่อนเข้าไปในเงามืดของโลก มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในคืนวันเดือนเพ็ญ
- สุริยุปราคา - ดวงจันทร์เข้าบังดวงอาทิตย์เมื่อมองจากโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ ดวงจันทร์ทอดเงาตกลงบนผิวโลก มีโอกาสเกิดขึ้นได้เฉพาะในวันเดือนดับ
ประเภทของอุปราคา
[แก้]- อุปราคาเต็มดวง เกิดขึ้นเมื่อผู้สังเกตอยู่ภายใต้เงามืดของดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ที่บดบังโลก โดยโลกนี้จะถูกบดบังไปทั้งหมด
- อุปราคาบางส่วน
- สำหรับสุริยุปราคา เกิดขึ้นเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วน โดยผู้สังเกตจะอยู่ภายใต้เงามัวของดวงจันทร์
- สำหรับจันทรุปราคา เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกบังบางส่วนโดยเงาของโลก จะเห็นดวงจันทร์เป็นเสี้ยว
- อุปราคาวงแหวน ในสุริยุปราคา เกิดเหมือนสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เห็นเป็นวงแหวน
- อุปราคาแบบผสม ในสุริยุปราคา เหตุการณ์ที่ผู้สังเกตสามารถสังเกตได้จะเห็นเป็นขั้นตอน โดยขั้นแรกจะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน จากนั้นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง จากนั้นก็จะเห็นเป็นแบบวงแหวนอีกครั้ง
เฟสของสุริยุปราคาเต็มดวง
[แก้]ลำดับขั้นตอนในการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
- สัมผัสที่ 1 ด้านตะวันออกของดวงจันทร์เริ่มสัมผัสกับด้านตะวันตกของดวงอาทิตย์ ท้องฟ้าเริ่มเปลี่ยนสี อากาศเริ่มเย็น ลักษณะธรรมชาติเวลานั้นจะเหมือนเวลาเย็น เมื่อมองดวงอาทิตย์ผ่านแผ่นกรองแสง จะเห็นว่าดวงอาทิตย์ถูกบดบังไปบางส่วนแล้ว
- สัมผัสที่ 2 ดวงจันทร์เริ่มบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ไปเกือบหมด เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จะสังเกตได้จากความขรุขระของผิวของดวงจันทร์ จะเห็นแสงสว่างลอดออกมาจากผิวขรุขระนั้น เรียกว่า ปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงดาวสว่างๆ เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อดวงอาทิตย์ถูกบดบังทั้งหมด จะสามารถสังกตเห็นชั้นบรรยากาศโคโรนา ของดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ในเวลาปกติ นอกจากนี้อาจเห็นพวยแก๊สที่พุ่งออกมาจากชั้นบรรยากาศชั้นโครโมสเฟียร์ แสงเหล่านี้จะหมดไปเมื่อเข้าสู่สัมผัสที่ 3
- สัมผัสที่ 3 ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนออกไปจากดวงอาทิตย์เกิดปรากฏการณ์ลูกปัดของเบลีย์ และ ปรากฏการณ์แหวนเพชร ดวงอาทิตย์ที่เคยถูกบดบังก็จะสว่างมากขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าสู่สัมผัสสุดท้าย
- สัมผัสสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ออกไปจากดวงอาทิตย์ทั้งดวง เป็นการสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวงอย่างสมบูรณ์
ลำดับขั้นตอนของจันทรุปราคา
[แก้]ลำดับขั้นตอนในการเกิดจันทรุปราคาโดยมองจากผู้สังเกตบนโลก
- สัมผัสที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลก
- สัมผัสที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรเข้าสู่เงามืดของโลกทั้งดวง ก่อนที่จะเข้าสู่เงามืดเต็มดวง จะเห็นแสงสว่างของดวงจันทร์น้อยมาก แต่ในขณะที่ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลกอย่างเต็มดวงแล้ว จะเห็นดวงจันทร์มีสีค่อนข้างแดงเนื่องจากการหักเหของแสง
- สัมผัสที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์กำลังเริ่มเคลื่อนออกจากเงามืดของโลก
- สัมผัสสุดท้าย เมื่อดวงจันทร์โคจรพ้นเงามืดของโลก สิ้นสุดจันทรุปราคาโดยสมบูรณ์
ความเชื่อ
[แก้]ก่อนหน้าที่จะมีการศึกษาการเกิดอุปราคาในวิชาดาราศาสตร์ ได้มีตำนานหรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเกิดอุปราคาในหลาย ๆ ลักษณะ เช่น ในตำนานของชาวฮินดูนั้น เล่ากันว่า จันทรุปราคาเกิดจากราหูอมจันทร์ และในวรรณคดีเรื่องไตรภูมิพระร่วงก็มีการกล่าวถึงราหูอมจันทร์เช่นเดียวกัน
อุปราคาบนดาวเคราะห์ดวงอื่น
[แก้]อุปราคาไม่สามารถเกิดขึ้นบนดาวพุธและดาวศุกร์ได้เลย เนื่องจากดาวเคราะห์ทั้งสองดวงนี้ไม่มีดวงจันทร์บริวารของตน
ส่วนอุปราคาบนดาวอังคารนั้นสามารถเกิดขึ้นได้เฉพาะอุปราคาแบบบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากดวงจันทร์ของดาวอังคารไม่ใหญ่พอที่จะบดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงได้
บนดาวพฤหัสบดีสามารถเกิดอุปราคาได้บ่อยครั้งมาก โดยมักเกิดจากดวงจันทร์ดวงใหญ่ 4 ดวง คือ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีดและคัลลิสโต ซึ่งสามารถสังเกตได้จากเงาของดวงจันทร์บนดาวพฤหัสบดี
ดาวพลูโตเป็นอีกดาวดวงหนึ่งที่เกิดอุปราคาได้บ่อย เนื่องจากมีดวงจันทร์บริวารที่ขนาดใหญ่พอ ๆ กับตัวมันเอง