[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

อีวาน เปตรอฟสกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อีวาน เปตรอฟสกี
เกิด18 มกราคม ค.ศ. 1901(1901-01-18)
เซฟสค์ จักรวรรดิรัสเซีย
เสียชีวิต15 มกราคม ค.ศ. 1973(1973-01-15) (71 ปี)
มอสโก สหภาพโซเวียต
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมอสโก
มีชื่อเสียงจากสมการเชิงอนุพันธ์ย่อยไฮเพอร์โบลิก
สมการโคลโมโกรอฟ–เปตรอฟสกี–ปิสคูนอฟ
แอ่งเปตรอฟสกี
อาชีพทางวิทยาศาสตร์
สถาบันที่ทำงานมหาวิทยาลัยมอสโก
สถาบันคณิตศาสตร์สเตคลอฟ
อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาเอกดมีตรี เอโกรอฟ
ลูกศิษย์ในระดับปริญญาเอกโอลกา เลดืยเจนสกายา
เยฟเกนี ลันดิส
โอลกา โอเลย์นิค
เซียร์เกย์ โกดูนอฟ
อะเลคเซย์ ฟีลิปปอฟ

อีวาน กอร์กีวิช เปตรอฟสกี (รัสเซีย: Ива́н Гео́ргиевич Петро́вский; อังกฤษ: Ivan Georgievich Petrovsky) เป็นนักคณิตศาสตร์ชาวสหภาพโซเวียตที่ศึกษาเกี่ยวกับสมการเชิงอนุพันธ์ย่อย เปตรอฟสกีมีส่วนร่วมสำคัญในการแก้ปัญหาของฮิลเบิร์ทข้อที่สิบเก้าและสิบหก และค้นพบแอ่งเปตรอฟสกี นอกจากนี้เขายังศึกษาเกี่ยวกับทฤษฎีของปัญหาเงื่อนไขขอบ ความน่าจะเป็น และทอพอโลยีของเส้นโค้งพีชคณิตและผิวพีชคณิต

ประวัติ

[แก้]

เปตรอฟสกีเกิดและเติบโตที่เมืองเซฟสค์ (Sevsk) ในแคว้นเบรียนสค์ (Bryansk Oblast) ในตระกูลพ่อค้าที่เป็นที่นับถือในเมือง เขาเข้าเรียนในโรงเรียนที่ตระกูลของเขามีส่วนร่วมสบทบทุนก่อสร้าง ผลการเรียนของเปตรอฟสกีอยู่ในเกณฑ์ดีมากในทุกวิชา แม้ว่าวิชาที่เขาชื่นชอบในตอนนั้นคือวิชาเคมี และวิชาคณิตศาสตร์จะอ่อนกว่าวิชาอื่น ๆ ก็ตามเนื่องจากคุณภาพของครูผู้สอน[1] เปตรอฟสกีเข้าศึกษาวิชาเคมีและชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยมอสโกใน ค.ศ. 1917 อย่างไรก็ตาม การปฏิวัติรัสเซียเริ่มต้นขึ้นก่อนที่เขาจะได้เข้าเรียน เขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับเซฟสค์ ก่อนที่ครอบครัวของเขาจะอพยพย้ายไปยังเมืองแยลือซาแวตฮรัด (เมืองนี้เปลี่ยนชื่อหลายครั้งจนกระทั่งใช้ชื่อกรอปึวนึตสกึยในปัจจุบัน)[2] ในประเทศยูเครน

ที่เยลิซาเวตฮรัต เปตรอฟสกีเข้าเรียนวิศวกรรมเครื่องกล และค้นพบว่าเมื่อเขาพยายามอ่านตำราทฤษฎีกลศาสตร์ซึ่งแต่งโดยนีโคไล จูคอฟสกี ความรู้คณิตศาสตร์ของเขาไม่ดีพอที่จะเข้าใจทฤษฎีในตำรานั้นได้ เปตรอฟสกีจึงเริ่มค้นหาตำราคณิตศาสตร์เพื่อปรับพื้นฐานตนเอง อย่างไรก็ตาม เขาได้พบตำราของดีรีเคลฺ ซึ่งทำให้เขาประทับใจมากจนตัดสินใจเปลี่ยนมาศึกษาวิชาคณิตศาสตร์แทน[1] เมื่อสถานการณ์การปฏิวัติและสงครามกลางเมืองสงบลง เปตรอฟสกีจึงเดินทางกลับมาศึกษาคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมอสโก เปตรอฟสกีเป็นลูกศิษย์ของดมีตรี เอโกรอฟ และมีลูกศิษย์ 11 คน โดยลูกศิษย์คนสำคัญได้แก่โอลกา เลดืยเจนสกายา, เยฟเกนี ลันดิส, โอลกา โอเลย์นิค, เซียร์เกย์ โกดูนอฟ และอะเลคเซย์ ฟีลิปปอฟ[3]

หลังจบการศึกษา เปตรอฟสกีเริ่มต้นสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเดิมตั้งแต่ ค.ศ. 1929 และได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ใน ค.ศ. 1933 นอกจากนี้ยังสอนที่สถาบันอื่นอีกสองสถาบันในรัสเซียได้แก่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมและสถาบันคณิตศาสตร์สเตคลอฟ เขายังเป็นสมาชิกของสำนักวิทยาศาสตร์โซเวียตตั้งแต่ ค.ศ. 1946 ได้รับรางวัลสตาลินสองครั้งได้แก่ ค.ศ. 1946 จากผลงานด้านสมการเชิงอนุพันธ์ และค.ศ. 1952 จากการเขียนตำราคณิตศาสตร์[4] และได้รับรางวัลวีรชนแรงงานแห่งสังคมนิยม ใน ค.ศ. 1969 เปตรอฟสกีดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยมอสโก ตั้งแต่ ค.ศ. 1951–1973 และดำรงตำแหน่งประธานการประชุมนักคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศที่กรุงมอสโก ใน ค.ศ. 1966

เปตรอฟสกีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ. 1973 ก่อนวันเกิดครบรอบอายุ 72 ปีของเขาเพียง 3 วัน

ผลงานตีพิมพ์สำคัญ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 เจ. เจ. โอคอนเนอร์ และอี. เอฟ. โรเบิร์ตสัน (พฤศจิกายน 2553). "Ivan Georgievich Petrovsky (1901-1973)". คลังจดหมายเหตุประวัติศาสตร์คณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูส์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-07. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. "Sweeping out Soviet past: Kirovohrad renamed Kropyvnytsky]". UNIAN. 14 กรกฎาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2562). {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  3. "Ivan Petrovsky". โครงการ Mathematics Genealogy มหาวิทยาลัยนอร์ทดาโคตา. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  4. "IVAN PETROVSKY, LED MOSCOW UNIVERSITY". เดอะนิวยอร์กไทมส์. 17 มกราคม 2516. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2562. {{cite news}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)