[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

บ้านซอยสวนพลู

พิกัด: 13°43′13″N 100°31′59″E / 13.7203°N 100.5330°E / 13.7203; 100.5330
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บ้านซอยสวนพลู

บ้านซอยสวนพลู เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานบ้านพักของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ในเลขที่ 19 ซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยของซอยสวนพลู (ซอยสาทร 3) ถนนสาทรใต้ เขตสาทร

บ้านซอยสวนพลูตั้งบนพื้นที่ 5 ไร่ ที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ซื้อไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ประกอบด้วยเรือนไทยโบราณจำนวน 5 หลัง เรือนใหญ่หลังกลางซื้อมาจากย่านเสาชิงช้า เมื่อ พ.ศ. 2490 และเรือนไทยภาคกลางอีก 2 หลังซื้อมาจาก อำเภอผักไห่ พระนครศรีอยุธยา การประกอบเรือนเริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2503 โดยใช้ช่างปรุงเรือนจากอำเภอผักไห่ เรือนใหญ่หลังกลางนี้เจ้าของเดิมเป็นสุภาพสตรีชรา ว่ากันว่าเมื่อย้ายเรือนมาอยู่ที่ซอยสวนพลู วิญญาณของท่านก็ยังผูกพันติดตามมาด้วย ดังที่หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ เคยเขียนไว้ในหนังสือของท่าน เกี่ยวกับบานประตูเรือนว่าเคยตกน้ำมัน (จากการบุกทำลายของตำรวจใน พ.ศ. 2518)

เดิมที บ้านหลังนี้เป็นของพล.ต.ต. พระพินิจชนคดี สามีของ ม.ร.ว.หญิงบุญรับ พินิจชนคดี พี่สาวของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ใช้เป็นที่อยู่ของพี่น้องในราชสกุลปราโมช จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองจะถูกยึดโดยรัฐบาล และถูกใช้เป็นที่พำนักของทหารญี่ปุ่น แต่ทว่าม.ร.ว.หญิงบุญรับโอนชื่อเป็นของตนเองเสียก่อน ก่อนที่จะตกมาอยู่ในความครอบครองของม.ร.ว.คึกฤทธิ์[1] ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2518 สมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี บ้านหลังนี้ได้ถูกตำรวจ นำโดย พ.ต.ต.อนันต์ เสนาขันธ์ บุกรุกทำลายข้าวของ ซึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่อยู่บ้าน เหตุเนื่องจากกลุ่มตำรวจไม่พอใจม.ร.ว.คึกฤทธิ์ นายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้นเดินทางไปประกันตัวผู้ถูกจับกุมที่ภาคเหนือ จากเหตุทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัวได้ เหตุนี้สร้างความไม่พอใจแก่ตำรวจเป็นอย่างมาก[2]

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าอยู่อาศัยในบ้านนี้เมื่อ พ.ศ. 2503 และปรับปรุงไปเรื่อย ๆ เป็นเวลากว่าสามสิบปี จนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อ พ.ศ. 2538 ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ประเภทบ้านบุคคลสำคัญ และเปิดเป็น พิพิธภัณฑ์บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ในการดูแลของ มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2550 มีข่าวว่าบ้านซอยสวนพลูจะปิดทำการลง แต่ว่าในที่สุดสามารถหาข้อสรุปได้โดยที่ทางมูลนิธิและทายาทให้เปิดดำเนินการต่อไป[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. เสนีย์ ปราโมช. ชีวลิขิต. กรุงเทพฯ : พรรคประชาธิปัตย์, 2548. 308 หน้า. หน้า 74. ISBN 9749353501
  2. "บันทึกประเทศไทย 1". ยูทูบ. December 3, 2015. สืบค้นเมื่อ July 10, 2016.
  3. "Home of M R Kukrit Pramoj a legacy of Thailand's famous son". Tour Bangkok Legacies. สืบค้นเมื่อ September 2, 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

13°43′13″N 100°31′59″E / 13.7203°N 100.5330°E / 13.7203; 100.5330