[go: up one dir, main page]

ข้ามไปเนื้อหา

ที-84

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ที-84
รถถังหลัก ที - 84
ชนิดรถถังหลัก
แหล่งกำเนิด ยูเครน
บทบาท
ประจำการพ.ศ. 2542 – ปัจจุบัน
ผู้ใช้งานยูเครน ยูเครน
[1][2]
[3]
ไทย ประเทศไทย
สงครามสงครามในดอนบัส, การรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
ข้อมูลจำเพาะ
มวล51 ตัน[4]
ความยาว7.075 เมตร (23 ฟุต 3 นิ้ว)[4]
ความกว้าง3.400 เมตร (11 ฟุต 2 นิ้ว)[4]
ความสูง2.800 เมตร (9 ฟุต 2 นิ้ว)[4]

เกราะเหล็กกล้า, เกราะคอมโพสิต,
เกราะต้านแรงปฏิกิริยาเคมี
อาวุธหลัก
ปืนใหญ่ 125 มม. KBA-3 ลำกล้องไม่มีเกลียว อัตราการยิง 46 รอบ[4]
อาวุธรอง
ปืนกลต่อสู้อากาศยาน 1 × 12.7 mm (.50) KT-12.7 อัตราการยิง 450 รอบ
ปืนกลร่วมแกน 1 × 7.62 mm (.308) KT-7.62 อัตรายิง 1,250 รอบ[4]
เครื่องยนต์ดีเซล 6 สูบ KMDB 6TD-2E (1,200 แรงม้า) หรือ
ดีเซล 6 สูบ KMDB 6TD-3 (1,500 แรงม้า)[4]
กำลัง/น้ำหนัก24.7 แรงม้า/ตัน (6TD-2E)
30 แรงม้า/ตัน (6TD-3)[4]
เครื่องถ่ายกำลังอัตโนมัติ
กันสะเทือนทอร์ซันบาร์
ความสูงจากพื้นรถ0.5 เมตร (1 ฟุต 8 นิ้ว)[4]
ความจุเชื้อเพลิง1,140 ลิตร (250 แกลลอนอิมพีเรียล หรือ 300 แกลลอน (ของเหลว, สหรัฐ))[4]
พิสัยปฏิบัติการ
500 กม. (310 ไมล์)[4]
ความเร็วถนน: 70 กม./ชม. (43 ไมล์/ชม.)
นอกถนน: 45 กม./ชม. (28 ไมล์/ชม.)[4]

ที-84 (ยูเครน: T-84) เป็นรถถังหลักของยูเครน พัฒนามาจากรถถังที-80 (Т-80УД; T-80UD) ของสหภาพโซเวียต สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1994 เริ่มเข้าประจำการในกองทัพยูเครนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 ใช้ระบบเครื่องยนต์ดีเซล 1,200 แรงม้า เฉลี่ย 26 แรงม้าต่อน้ำหนักตัวรถ 1 ตัน ความเร็วสูงสุดที่ 87 กิโลเมตร/ชั่วโมง ทำให้ ที-84 เป็นหนึ่งในรถถังหลักที่เร็วที่สุดแบบหนึ่งของโลก

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]

รถถังหลัก (Т-84У Оплот; T-84U Oplot) ออกแบบโดยบริษัท Kharkiv Morozov Machine Building Design Bureau (KMDB) และสร้างโดย Malyshev Plant ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ (State-owned Enterprise) ของประเทศยูเครน คำว่า “Oplot” เป็นภาษายูเครน ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า “Bulwark” ซึ่งหมายถึง “ป้อมปราการหรือที่มั่นสำหรับต่อสู้กับข้าศึก” เป็นรถถังยุคใหม่ที่มีความทันสมัย ถูกออกแบบให้เป็นรถถังที่มีอำนาจการยิงที่รุนแรง มีความแม่นยำสูง มีระบบป้องกันตัวเองที่น่าเชื่อถือ และมีความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่สูง สามารถปฏิบัติการในสภาพพื้นที่ที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันอย่างมาก คือตั้งแต่ −40 องศาเซลเซียส ถึง +55 องศาเซลเซียส หรือแม้กระทั่งการปฏิบัติการในพื้นที่ ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลถึง 13 กิโลเมตร รถถัง Oplot ก็ยังสามารถปฏิบัติภารกิจได้เป็นอย่างดี รถถังหลัก T-84 Oplot เป็นรถถังที่พัฒนาต่อเนื่องมาจากตั้งแต่ รถถังหลักรุ่น T-64 จนมาถึงรถถัง รุ่น T-80UD ก่อนจะกลายมาเป็นรถถัง (Т-84БМ Оплот-М; T-84BM Oplot-M) ในปัจจุบัน รถถังรุ่นนี้ มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นเดิมหลายรายการ อาทิเช่น ป้อมปืนรุ่นใหม่ เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 1,900 แรงม้า เกราะปฏิกิริยาแบบใหม่ กล้องเล็งแบบใหม่ ระบบต่อต้านการตรวจการณ์ด้วยสายตาที่เรียกว่า “V Maltolone” ที่สามารถป้องกันการตรวจจับหรือการเล็งเกาะเป้าหมาย (Tracking) ด้วยแสงเลเซอร์ รวมถึงการมีระบบก่อกวนสัญญานคลื่นอินฟราเรด ซึ่งนิยมใช้ในระบบอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังทั่ว ๆ ไปอีกด้วย ซึ่งทำให้รถถังรุ่นนี้สามารถเพิ่มความอยู่รอดในสนามรบได้มากขึ้น

อำนาจการยิง

[แก้]

อำนาจการยิงของรถถัง Oplot M ได้แก่ระบบอาวุธ ประกอบด้วย อาวุธหลัก และอาวุธรอง ดังนี้

อาวุธหลัก: ปืนใหญ่รถถังแบบลำกล้องเรียบขนาด 125 มม. แบบ KBA-3 (ตระกูลเดียวกับปืนใหญ่รถถังแบบ 2A46M1 หรือ D-81 TM ของสหพันธรัฐรัสเซีย) ผลิตโดยสาธารณรัฐยูเครน ใช้การบรรจุกระสุนแบบอัตโนมัติ (Autoloader) ความเร็วในการยิง 8 นัด/นาที สามารถทำการยิงกระสุนได้ 4 ชนิดได้แก่

  • APDSFS
  • HEAT
  • HE-FRAG
  • ATGM (Anti-Tank Guided Missiles, ขีปนาวุธนำวิถีต่อต้านรถถัง)

โดยมีระยะยิงหวังผลของปืนใหญ่รถถังในกระสุนแต่ละประเภท

  • กระสุน APDSFS มีระยะยิงหวังผล 2,800 เมตร
  • กระสุน HEAT มีระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร
  • กระสุน HE-FRAG มีระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร

โดยมีอัตราการกระจายของกระสุน (Dispersion) ที่ 0.2 มิลลิเรเดียน

อาวุธรอง

  • ปืนกลร่วมแกน แบบ KT-7.62 (PKT) ขนาด 7.62 มม.
  • ปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ KT-12.7 ขนาด 12.7 มม แบบควบคุมระยะไกลจากภายในตัวรถ (Remote Control)

ระบบป้อนกระสุนปืนใหญ่รถถัง

[แก้]

เป็นระบบที่ทำหน้าที่ป้อนกระสุนที่มีอยู่เข้าสู่ปืนใหญ่รถถังโดยอัตโนมัติ ประกอบไปด้วยสายพาน เครื่องบรรจุกระสุนอัตโนมัติและระบบควบคุม เป็นชนิด กลไกไฟฟ้าไฮดรอลิก ด้วยมุมบรรจุคงที่มีแบบของกระสุน 4 แบบ ความจุกระสุนในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) มีจำนวน 28 นัด การหมุนตัวของช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) สามารถหมุนได้สองทิศทางที่ความเร็วในการหมุนประมาณ 25–33 องศาต่อวินาที อัตราเร็วในการบรรจุกระสุนต่อนัดประมาณ 7 วินาที การคัดปลอกกระสุนเมื่อทำการยิงไปแล้ว จะถูกนำกลับไปใส่เอาไว้ในช่องว่างในถาดป้อนกระสุนโดยไม่ทำให้เกะกะในห้องปฏิบัติการของพลประจำรถ ชนิดของการป้อนกระสุนแบบสองหัวรบเรียงตามกันป้อนกระสุนและดินส่งพร้อมกันในหนึ่งรอบ ระบบขับอุปกรณ์ป้อนกระสุนสามารถทำการช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) ด้วยมืออันประกอบไปด้วยกลไกบรรจุกระสุนด้วยมือ, ล็อกช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) ด้วยมือ และล็อกปืนด้วยมือ เวลาที่ใช้ในการเติมกระสุนลงช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) (ในโหมดเติมกระสุน) 15–20 นาที และนอกจากนี้ยังมีระบบควบคุมการป้อนกระสุนติดตั้งเอาไว้ในรถถังเพื่อ ทำการควบคุมกลไกและไฮดรอลิกของระบบป้อนกระสุน ควบคุมวงรอบการยิงปืนใหญ่และปืนกลร่วมแกน เก็บข้อมูลเกี่ยวกับชนิดกระสุนที่ถูกบรรจุเอาไว้ในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle)

ระบบอาวุธนำวิถีของรถถัง

[แก้]

มีไว้เพื่อใช้ทำการยิงอาวุธนำวิถีจากลำกล้องปืนใหญ่รถถัง ด้วยการเล็งจากกล้องเล็งแบบ 1G46M ของพลยิง อาวุธนำวิถีที่ใช้ยิงเป็นแบบ Kombat ชนิดหัวรบแบบระเบิดต่อสู้รถถังแบบหัวรบสองขั้น (Tandem HEAT) ระบบนำวิถีเป็นกึ่งอัตโนมัติชนิดตามลำแสงเลเซอร์ (Laser Beam Riding) ระยะยิงไกลสุด 5,000 เมตร

ระบบเครื่องควบคุมการยิง

[แก้]

ประกอบไปด้วย กล้องเล็งกลางวันแบบ 1G46M ของพลยิง, กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2, กล้องเล็งและตรวจการณ์ของผู้บังคับรถแบบ PNK-6, ระบบควบคุมการยิงปืนกลต่อสู้อากาศยานแบบ 1ETs 29M1, คอมพิวเตอร์คำนวณ ขีปนวิธีแบบ TIUS-VM พร้อมด้วยเซ็นเซอร์ป้อนข้อมูล, อุปกรณ์รักษาการทรงตัวของอาวุธแบบ 2E42M และอื่น 

เครื่องคำนวณขีปนวิธีของรถถังแบบ TIUS-VM

[แก้]

ใช้ในการคำนวณแก้ค่าขีปนวิธีของกระสุนปืนใหญ่รถถัง โดย คอมพิวเตอร์แบบ TIUS-VM[5] จะนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากระบบเซ็นเซอร์ที่วัดค่าได้ เช่น ความเร็วรถถัง, ความเร็วเชิงมุมของเป้าหมาย, อาการเอียงของแกนลำกล้องปืนใหญ่, ความเร็วของลมพัดขวาง, ระยะเป้าหมาย และมุมภาคของเป้าหมาย นอกจากนี้ข้อมูลอื่น ๆ ก็จะถูกนำเข้าด้วยมือ เช่น อุณหภูมิโดยรอบ, อุณหภูมิดินส่งกระสุน, อาการสึกของลำกล้องปืนใหญ่ และความดันของอากาศโดยรอบ เป็นต้น นอกจากนี้คอมพิวเตอร์ยังทำการคำนวณเวลาที่เหมาะสมสำหรับกระสุนแบบ ดินระเบิดแรงสูงแบบมีสะเก็ด ( HE-FRAG ) ให้ระเบิดเหนือเป้าหมายได้อีกด้วย ระบบควบคุมการยิงมีประสิทธิภาพสูง เมื่อปุ่มไกปืนถูกกด ปืนจะทำการยิงก็ต่อเมื่อมีการแก้ค่าความแตกต่างระหว่าง แนวเส้นเล็งกับแนวแกนปืนใหญ่รถถังอยู่ในย่านที่ยอมรับได้ ขนาดของ “มุมยิง” ขึ้นอยู่กับระยะยิง และปัจจัยอื่น ๆ ลำกล้องปืนใหญ่รถถังสามารถทำงานผิดเพี้ยนไปได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ความร้อนจากการยิง, ฝนตกบนพื้นผิว, การแพร่กระจายคลื่นความร้อน หรือลมพัดขวาง เป็นต้น ผลจากปัจจัยเหล่านี้ถูกลดลงโดยการนำเอาปลอกกระจายความร้อน (Thermal sleeve) มาใช้ และเพื่อแก้ไขอาการคลาดเคลื่อน เนื่องจากความร้อนที่แพร่ออกจากลำกล้องปืนใหญ่ ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ปากลำกล้องเพื่อส่งข้อมูลเกี่ยวกับการคลาดเคลื่อนของลำกล้องให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีทำการแก้ไขทันที ซึ่งระบบมีเวลาในการเตรียมการยิงสำหรับกระสุนนัดแรกของปืนใหญ่รถถังดังนี้

  • เมื่อรถถังอยู่กับที่ ใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 10–12 วินาที
  • เมื่อรถถังเคลื่อนที่ใช้เวลาในการเตรียมการประมาณ 10–15 วินาที

เซ็นเซอร์ป้อนข้อมูลคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิธีปืนใหญ่

[แก้]
  • เครื่องวัดมุมเอียง (Cant Sensor) ตัวเซ็นเซอร์หรือตัวตรวจจับนี้มีหน้าที่พิจารณาตำแหน่งของการเอียงของปืนทั้งสองแนวระนาบ เพื่อป้อนให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณการยิง
  • เครื่องวัดความเร็วลมทางข้าง (Cross Wind Sensor) มีหน้าที่วัดความเร็วลมที่เกิดการพัดขวาง เพื่อป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีของปืนใหญ่รถถัง
  • เครื่องวัดความเร็วรถถัง (Tank Speed Sensor) มีหน้าที่วัดความเร็วรถถังในขณะเคลื่อนที่ เพื่อป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีของปืนใหญ่รถถัง
  • เครื่องวัดค่าตำแหน่งป้อมปืนเชิงมุม (Turret Attitude Sensor) มีหน้าที่วัดตำแหน่งเชิงมุมของป้อมปืนที่ทำกับตัวรถ (มุมป้อมปืน) เพื่อป้อนให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิถีปืนใหญ่รถถัง
  • ระบบจุดอ้างปากลำกล้อง (Muzzle Reference System: MRS) ระบบนี้มีหน้าที่ในการวัดค่าการบิดงอตัวของลำกล้อง เพื่อทำการป้อนข้อมูลให้กับคอมพิวเตอร์คำนวณขีปนวิธีปืนใหญ่รถถัง

ระบบขับเคลื่อนป้อมปืน

[แก้]

ระบบขับเคลื่อนป้อมปืนของรถถัง Oplot ประกอบไปด้วย

  • ระบบหมุนป้อมปืนทางสูงแบบไฟฟ้า-ไฮโดรลิก สามารถยกปืนได้ด้วยความเร็วตั้งแต่ 0.05–1 องศา/วินาที
  • ระบบหมุนป้อมปืนทางระยะแบบกลไกไฟฟ้า สามารถหมุนป้อมปืนได้ด้วยความเร็วตั้งแต่ 0.05–40 องศา/วินาที
  • ระบบรักษาการทรงตัวแบบ 2E42M ใช้ระบบ Mechanical Gyroscope รักษาการทรงตัว 2 แกน มีความผิดพลาดไม่เกิน 0.4 มิลลิเรเดียน

กล้องเล็งกลางวันแบบ 1G46M

[แก้]

ระบบกล้องเล็งกลางวันแบบ 1G46M[6] เป็นกล้องเล็งกลางวันซึ่งพัฒนามาจากกล้องเล็งกลางวันแบบ 1G46 บนรถถังแบบ T-80U/UD แต่ได้เพิ่มระบบการปรับศูนย์แก้อาการเบี่ยงเบนของไจโร (Gyro Drifting) โดยอัตโนมัติ

มีคุณสมบัติดังนี้

  • เป็นกล้องเล็งกลางวันและกล้องสำหรับนำวิถีอาวุธนำวิถี พร้อมระบบเลเซอร์วัดระยะ
  • มีระบบรักษาการทรงตัวแบบไจโรสโคป 2 แกน มีความผิดพลาดไม่เกิน 0.2 มิลลิเรเดียน
  • กำลังขยาย 2.7–12.0 เท่า ปรับกำลังขยายแบบต่อเนื่อง
  • แนวเล็งทางสูง −15 ถึง +20 องศา
  • แนวเล็งทางระดับ ±8 (±1) องศา
  • แนวเล็งทางระดับพร้อมกับป้อมปืน 360 องศา
  • ความเร็วเชิงมุมของแนวเล็งทางสูงและทางระดับ 0.05–3 องศา/วินาที
  • เลเซอร์วัดระยะชนิด Nd:YAG ความยาวคลื่น 1.06 ไมโครเมตร
  • ขีดจำกัดการวัดระยะ 400–5,115 เมตร
  • ความผิดพลาดในการวัดระยะ ±10 เมตร

สำหรับการเล็งอาวุธนำวิถีนั้น ระบบกล้องเล็งกลางวัน 1G46M จะใช้โมดูลเลเซอร์แยกสำหรับการนำวิถีสำหรับอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง ซึ่งใช้เทคนิคการปรับคลื่นลำแสงเลเซอร์ให้เกิดเป็นตาราง (Laser Modulation) สำหรับอ้างอิงจุดพิกัดที่อาวุธนำวิถีควรอยู่[7] การใช้งานสำหรับระบบ 1G46M นั้น ง่ายเช่นเดียวกับระบบ 1G46 เดิมคือสามารถใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบที่พลยิงเพียงทาบจุดเล็ง วัดระยะด้วยเลเซอร์แล้วยิง โดยมีระบบสำรองเป็นการวัดระยะด้วยเส้นวัด (Stadiametric rangefinding) เพื่อป้อนข้อมูลเข้าระบบคำนวณขีปนวิถี หรือ ใช้เส้นเล็งแบบกลไกที่มีมาให้ในกล้องเล็งอยู่แล้ว

กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2

[แก้]

กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2[8] พัฒนามาจากระบบกล้องเล็งกลางคืน TO1-KO1 หรือ TPN-4 Buran แต่ได้เปลี่ยนระบบภายในจากกล้องขยายแสง (Image intensifier) เป็นกล้องสร้างภาพความร้อน (Thermal Imaging Sight) ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่า มีระยะตรวจการณ์ไกลกว่า และสามารถใช้ได้ในโหมด Passive เต็มรูปแบบ นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการเชื่อมต่อเข้ากับระบบคำนวณขีปนวิถี และทำการปรับแนวเล็งให้เป็นแนวเดียวกับกล้องเล็งกลางวัน (ซึ่งแต่เดิมระบบ TPN-4 ไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบคำนวณขีปนวิถี และมีแนวเล็งต่างจากกล้องเล็งกลางวัน)[9] กล้องเล็งแบบสร้างภาพด้วยความร้อน PTT-2 ประกอบไปด้วยกล้องเล็งของพลยิง และจอไมโครมอนิเตอร์ของผู้บังคับรถในกล้องเล็งรอบทิศ PNK-6 รวมทั้งแผงควบคุม โดยปกติกล้องนี้จะถูกควบคุมการทำงานโดยพลยิง แต่ผู้บังคับรถสามารถควบคุมแยกจากพลยิงได้ไม่ว่าจะเป็นการเล็ง หรือทำการยิงทั้งปืนใหญ่รถถัง หรือปืนกลร่วมแกนโดยใช้ระบบควบคุม และจอมอนิเตอร์สร้างภาพด้วยความร้อนของตน กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนนี้ช่วยให้ทั้งพลยิงและผู้บังคับรถสามารถทำการยิงได้อย่างแม่นยำในสภาพทัศนะวิสัยจำกัด เช่น มีหมอกควัน หรือการปฏิบัติในเวลากลางคืน

กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2 ใช้ระบบรักษาการทรงตัวแบบไม่อิสระ 1 แกน โดยเชื่อมต่อกับระบบรักษาการทรงตัวของกล้องเล็งแบบ 1G46M และระบบรักษาการทรงตัวปืนแบบ 2E42M ผ่านระบบสัญญาณไฟฟ้า และใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมกระจกสะท้อนหลักในการทำงาน[10] จากเดิมที่กล้องเล็งกลางคืนแบบ TPN-4 จะใช้การเชื่อมต่อทางกลไกกับแคร่ปืน

กล้องสร้างภาพความร้อนของระบบ PTT-2 นั้น ใช้กล้องของบริษัท Thales รุ่น Catherine FC

กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนแบบ PTT-2[11] มีคุณสมบัติดังนี้

  • อัตราขยายแบบออปติคัล 2 จังหวะ และอีก 1 จังหวะแบบดิจิทัล
  • ค่ามุมมองการมองเห็น 9° х 6.75° จนถึง 1.5° х 1.12°
  • ระยะตรวจจับไกลสุด 12,000 เมตร
  • ค่าความแม่นยำในการเกาะเป้าเชิงมุม 0.5 มิลลิเรเดียน

กล้องตรวจการณ์ของผู้บังคับรถแบบ PNK-6

[แก้]

เป็นระบบกล้องเล็งและตรวจการณ์ของ ผบ.รถ เป็นกล้องเล็งตรวจการณ์รอบทิศ (Panoramic Sight) มีระบบรักษาการทรงตัวอิสระแบบสองแกน ประกอบไปด้วยระบบดังต่อไปนี้[12]

  • กล้องเล็งกลางวัน อัตราขยาย 1.2, 6.0 และ 12 เท่า มีระยะตรวจจับไกลสุด 5,500 เมตร แนวเล็งทางสูงที่ −17° ถึง +65° ทางระดับหมุนได้รอบ 360°
  • กล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อน ซึ่งใช้กล้องสร้างภาพด้วยความร้อนจากบริษัท Thales รุ่น Catherine FC อัตราขยาย 2 ระดับ มีระยะตรวจจับไกลสุดสำหรับเป้าหมายรถถัง ในอัตราขยายต่ำที่ 5,000 เมตร
  • ระบบเลเซอร์วัดระยะชนิดความยาวคลื่น 1.06 ไมโครเมตร สามารถวัดระยะได้ตั้งแต่ 200–9,500 เมตร ด้วยอัตราผิดพลาด ±5 เมตร และมีระบบต่อต้านการรบกวนเลเซอร์ด้วยการยิงเลเซอร์วัดระยะพร้อมกัน 3 ครั้ง โดยผู้บังคับรถสามารถเลือกระยะที่เหมาะสมได้เอง หรือให้คอมพิวเตอร์คำนวณค่าที่เหมาะสมเองโดยอัตโนมัติ
  • ระบบสวิตช์แลกเปลี่ยนข้อมูลแบบ BK-6
  • ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุม EB-6
  • ระบบควบคุมกล้อง BUG-6

ความสามารถของระบบกล้องตรวจการณ์ PNK-6 มีดังต่อไปนี้[12]

  • ตรวจการณ์รอบทิศ และ ส่งต่อเป้าหมายที่ตรวจพบให้พลยิง
  • ยิงปืนกลต่อสู้อากาศยาน
  • ยิงปืนหลัก
  • ยิงปืนกลร่วมแกน
  • ยิงจรวดต่อสู้รถถังผ่านระบบกล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนของพลยิง
  • วัดระยะเป้าหหมายด้วยระบบเลเซอร์วัดระยะ
  • ตรวจดูเป้าหมายของพลยิงผ่านระบบกล้องเล็งสร้างภาพด้วยความร้อนของพลยิง
  • แจ้งเตือนเลเซอร์เล็งเกาะ และ ยิงระเบิดควันไปยังทิศนั้น 

ระบบ PNK-6 ถือว่าเป็นระบบที่ทำให้รถถัง Oplot M มีความสามารถในการต่อต้านเป้าหมายได้ในแบบ Hunter-Killer ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และช่วยเพิ่มความตื่นรู้สถานการณ์ (Situation Awareness) ให้กับผู้บังคบรถได้ อย่างมีนัยยะสำคัญ

ระบบป้องกันตนเอง

[แก้]

เกราะหลักของรถถัง Oplot M เป็นเกราะหลายชั้น (Laminated Armor) เกราะพื้นฐานทั้งป้อมปืนและตัวรถทำจากเหล็กกล้าผ่านกระบวนการหลอมใหม่ด้วยสแล็ก (Electro-slag Remelting) ซึ่งมีความแข็งแรงกว่าเหล็กกล้าปกติถึง 10–15%[13] เสริมทับหลายชั้นด้วยเซรามิก อารามิดไฟเบอร์ คอมโพสิต ซึ่งเป็นความลับ และยังมีการเสริมเกราะปฏิกิริยาแรงระเบิด (Explosive Reactive Armor)

แผ่นเกราะปฏิกิริยาแรงระเบิด (ERA) ประกอบด้วย

[แก้]

โมดูลและแผ่นชายน้ำที่ติดเอาไว้ที่ตัวรถ เช่นเดียวกับชุดเกราะที่นำมาติดเอาไว้ด้านนอกของป้อมปืนตอนหน้าและด้านข้าง และด้านบนของป้อมปืน เกราะปฏิกิริยาแบบ Duplet[14] ติดตั้งเอาไว้บริเวณตำแหน่งต่าง ๆ เพื่อป้องกันหัวรบแบบดินโพรง (Shape Charge) จากกระสุนระเบิดต่อสู้รถถัง (HEAT) ทุกแบบ และกระสุนเจาะเกราะทรงตัวด้วยครีบหางสลัดครอบทิ้งเอง (APFSDS) เกราะปฏิกิริยาแบบ Duplet ที่เป็นส่วนหนึ่งของชุดเกราะ จะไม่ระเบิดเมื่อถูกยิงด้วยกระสุน 12.7 มม., 30 มม. เจาะเกราะและสะเก็ดของกระสุนขนาดต่าง ๆ เกราะ Duplet จะถูกเก็บเอาไว้ในกล่องเก็บ หรือไว้ในตัวรถถังเพื่อป้องกันแสงอาทิตย์ หรืออุณหภูมิที่แตกต่างกันมากตั้งแต่ –50 ถึง +55 องศาเซลเซียส และยังสามารถเก็บรักษาเอาไว้ในสภาพความชื้นสูงถึง 100% ที่อุณหภูมิ +35 องศาเซลเซียส เกราะ Duplet นี้สามารถรักษาคุณสมบัติเหล่านี้เอาไว้ได้นาน 10 ปี

ระบบป้องกันแบบแอคทีฟ Varta

[แก้]

ระบบป้องกันแบบ Varta ทำหน้าที่ดังนี้

  • ตรวจจับแสงเลเซอร์ที่ตกกระทบตัวรถถัง และแจ้งตำแหน่งที่แสงเลเซอร์ยิงมา เพื่อใช้มาตรการต่อต้านหรือทำการต่อตีไปยังจุดนั้น
  • ยิงระเบิดควันพรางสายตา, อินฟราเรดและเลเซอร์
  • ใช้ระบบอินฟราเรดก่อกวนระบบนำวิถี สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีที่ใช้ระบบ SACLOS-Wire Guided (เช่น Bill-2, TOW, Metis, HOT, ERYX, MILAN) หรือ Radio Guided (เช่น Wireless TOW, 9K112 Kobra)

ส่วนประกอบของระบบ Varta

[แก้]

ส่วนประกอบของระบบVarta มีดังนี้ เซนเซอร์ตรวจจับเลเซอร์ (Laser Warning Receiver)[15] ประกอบไปด้วยเซนเซอร์ 2 แบบ ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้

  • เซนเซอร์ตรวจจับเบื้องต้น มีมุมตรวจจับทางทิศ 135 องศา ทางระดับ +25/−5 องศา
  • เซนเซอร์ตรวจจับแบบละเอียด มีมุมตรวจจับทางทิศ 45 องศา จากกระบอกปืน หรือ 90 องศาด้านหน้า ทางระดับ +25/−5 องศา
  • รวมทั้งระบบ ครอบคลุม 360 องศารอบตัวรถ
  • สามารถทำงานได้หลังจากเปิดระบบภายใน 20 วินาที (**ระบบ TSHU-1-1/11 ของระบบ Shtora-1)
  • ความไวในการตรวจจับ 0.15 วินาที
  • สามารถตรวจจับเลเซอร์จากระบบเลเซอร์วัดระยะในศูนย์เล็ง TPD-K1 (ศูนย์เล็งหลักของ T-72) ได้จากระยะไกลสุด 10,000 เมตร

ระบบท่อยิงระเบิดควัน และระเบิดควันแบบ GD-1[16][17]

คุณสมบัติระบบท่อยิงระเบิดควัน (มีต้นแบบจาก Tucha 902B ของโซเวียตและรัสเซีย ชื่อยูเครนยังไม่มีข้อมูล)

  • จำนวนท่อยิง: 12 ท่อยิง (ติดตั้งด้านข้างของป้อมปืน ชุดละ 6 ท่อยิง)
  • ความกว้างปากลำกล้อง: 81 มิลลิเมตร
  • มุมยิงทางทิศ: 45 องศา ในแต่ละชุด หรือ 90 องศาด้านหน้า
  • ระยะเวลาตอบสนองของระบบ: 0.5 วินาที (ในโหมดอัตโนมัติ)

โหมดการทำงาน (อ้างอิงจากระบบ Shtora-1)

  • อัตโนมัติ (หันป้อมปืนไปยังทิศที่ตรวจพบเลเซอร์ และ ยิงระเบิดควันโดยอัตโนมัติ ตามจำนวนที่ตั้งไว้ ตั้งแต่ 1–3 ลูกต่อชุดยิง)
  • กึ่งอัตโนมัติ (หันป้อมปืนไปยังตำแหน่งที่ตรวจพบเลเซอร์โดยอัตโนมัติ แต่ยิงระเบิดควันตามคำสั่งของผู้ใช้)
  • Manual (ยิงระเบิดควันตามคำสั่งผู้ใช้ โดยผู้ใช้กำหนดตำแหน่งที่ต้องการยิงเอง)
  • ยิงทั้งหมด (ยิงระเบิดควันทั้งหมด 12 ลูก ในกรณีฉุกเฉิน)
  • ควบคุม และ รีเซ็ท (สำหรับดูแลระบบ)

คุณสมบัติของระเบิดควัน GD-1[18]

  • แบบ: Multi-Spectral (อำพรางทางสายตา, ก่อกวนเลเซอร์ และก่อกวนระบบตรวจจับความร้อน)
  • ระยะยิงไกลสุด: ไม่น้อยกว่า 50 เมตร / ความสูงสูงสุด: ไม่เกิน 10 เมตร
  • ระยะเวลาการแตกของระเบิดหลังจากยิงออกไป: ไม่เกิน 1 วินาที
  • ระยะเวลาการคงอยู่ของม่านควัน: ไม่น้อยกว่า 60 วินาที

ระบบไฟฉายอินฟราเรดก่อกวนระบบนำวิถี OTSHU-1-7 (ชื่อจากระบบ Shtora-1 ชื่อยูเครนยังไม่มีข้อมูล)[16] เป็นระบบป้องกันอาวุธนำวิถีที่ใช้หลักการ SACLOS (Semi-Automatic Command to Line-Of-Sight) ผ่านเส้นลวด (Wire Guided) หรือผ่านระบบวิทยุ (Radio Guided) หลักการโดยสังเขปไฟฉายนี้สามารถกำเนิดแหล่งอินฟราเรดขนาดใหญ่พอ ๆ กับแสงแฟลร์ท้ายลูกจรวดของจรวดนำวิถีด้วยเส้นลวด หรือ คอมมานด์ลิงก์ (เช่น TOW, MILAN, HOT, ERYX, BILL-2) ระบบการนำวิถีแบบนี้จะใช้แสงแฟลร์ท้ายลูกจรวดเป็นจุดอ้างอิง ระหว่างตัวจรวดกับเป้า ระบบไฟฉายนี้จะไปสร้างสัญญาณลวง ทำให้ระบบควบคุมจรวดสับสน จนทำให้จรวดออกจากทิศทางที่ควรจะเป็น

ข้อมูลทางเทคนิค (ระบบ OTSHU-1-7 ของระบบ Shtora-1)

  • ประเภท: ไฟฉายอินฟราเรด
  • มุมการทำงาน: ทางทิศ −20/+20 องศา จากกระบอกปืน // ทางระดับ +2/−2 องศา

โหมดการทำงาน (อ้างจากระบบ Shtora-1) :

  • ไฟฉายอินฟราเรด: สำหรับระบบกล้องกลางคืนพลขับ โดยจะมีการถอดเลนส์กระจายแสงหน้าไฟฉาย แล้วติดตั้งฟิลเตอร์ IR หน้าไฟฉายแทน และปรับให้ไฟฉายขนานกับปืน (คาดว่ารถถัง Oplot M คงไม่ใช้โหมดนี้แล้ว)
  • ก่อกวนระบบนำวิถี: สำหรับโหมดนี้ พลประจำรถจะติดตั้งฟิลเตอร์สีแดงเข้ากับตัวไฟฉาย หลังจากนั้นจะติดตั้งเลนส์กระจายแสง แล้วปรับตัวไฟฉายในมุมที่จะให้การป้องกันมากที่สุด

ระบบ Varta ช่วยเพิ่มความอยู่รอดให้กับรถถัง Oplot ดังนี้ (ข้อมูลของระบบ Shtora-1)[16]

  • โอกาสในการยิงไม่ถูกของอาวุธปืนและระเบิดที่นำวิถีด้วยระบบนำวิถี ATLIS, TADS, Pave Spike: 0.85
  • โอกาสในการยิงไม่ถูกของอาวุธปืนนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ AGM-65E, Hellfire: 0.8
  • โอกาสในการยิงไม่ถูกของลูกปืนใหญ่นำวิถีด้วยเลเซอร์แบบ Copperhead: 0.8
  • โอกาสในการยิงไม่ถูกของอาวุธปืนนำวิถีด้วยโทรทัศน์แบบ AGM-65A/B: 0.54
  • โอกาสในการยิงไม่ถูกของอาวุธปืนนำวิถีด้วยเส้นลวด เช่น MILAN, HOT: 0.6
  • เพิ่มอัตราการป้องกันตัวจากระบบวัดระยะด้วยเลเซอร์: 1.3–3 เท่า

ระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ชีวะเคมี

[แก้]

ระบบป้องกันอาวุธนิวเคลียร์ชีวะเคมีแบบสร้างแรงดันสูงมีหน้าที่ป้องกันพลประจำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในรถจากผลของอาวุธนิวเคลียร์, ฝุ่นกัมมันตภาพรังสี, สารพิษและอาวุธชีวภาพ ตัวป้องกันการแผ่รังสีถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นแผ่นบุ (Liner) ที่ติดเอาไว้ด้านใน และยังสามารถทำหน้าที่ป้องกันการกะเทาะของเกราะจากภายใน (Spall Liners) ระบบมีหน้าที่ป้องกันพลประจำรถ และอุปกรณ์ภายในรถจากการระเบิดของนิวเคลียร์, การแพร่กระจายของรังสีเรเดียม, สารพิษหรืออาวุธชีวะ เช่นเดียวกับการตรวจหาและดับไฟในห้องปฏิบัติการของพลประจำรถถัง และในห้องเครื่องยนต์

ความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่

[แก้]

รถถัง Oplot มีเครื่องยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์สูงและยังมีระบบช่วยการทำงานของเครื่องยนต์ อันได้แก่ ระบบจ่ายน้ำมัน ระบบป้อนอากาศ ระบบหล่อลื่น ระบบให้ความเย็น ระบบระบายแก๊สจากเครื่องยนต์ ระบบให้ความร้อนเครื่องยนต์เบื้องต้นและระบบทำความร้อนในห้องทำงานพลประจำ จุดเด่นอีกประการหนึ่งของรถถัง Oplot คือการเคลื่อนที่ถอยหลังได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นผลมาจากมีการออกแบบชุดส่งกำลัง อันประกอบไปด้วย กล่องเกียร์ เฟืองท้ายส่งกำลังถอยหลัง ทำงานร่วมกับระบบควบคุมการเคลื่อนที่แบบซับซ้อนเช่น เฟืองขับ ระบบสายพาน ระบบพยุงตัวรถ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์พิเศษอื่น ๆ อีกเช่น อุปกรณ์ลุยน้ำลึก อุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาและนำทางเบื้องต้น อุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาเวลากลางวัน อุปกรณ์ช่วยขับเวลากลางคืน อุปกรณ์ช่วยนำทางเบื้องต้น (นำทางด้วยไจโร) อุปกรณ์เป่าลมที่ช่วยทำความสะอาดอุปกรณ์ตรวจการณ์ด้วยสายตาของป้อมปืนและตัวรถ ระบบช่วยนำทางด้วยดาวเทียม (GPS)

ระบบช่วยนำทางแบบ TIUS-NM (TIUS-NM Navigation Support System)

[แก้]

ระบบช่วยนำทางอาศัยข้อมูลพื้นฐานจากดาวเทียม GLONASS และ GPS NAVSTAR ระบบจะแสดงข้อมูลให้กับผู้บังคับรถเกี่ยวกับตำแหน่งที่อยู่ของรถถังของตนมุมภาคทิศ และตำแหน่งต่าง ๆ ของกำลังฝ่ายเดียวกัน ช่วยให้ง่ายต่อการควบคุมการดำเนินกลยุทธ์ของหน่วยรถถัง โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการปฏิบัติการในสภาพที่มีการสู้รบอย่างรุนแรงที่ต้องมีการปิดป้อม, ในเวลากลางคืน หรือในพื้นที่หมอกควันปกคลุมหนาแน่น ระบบยังแสดงข้อมูลอื่น ๆ เช่นทิศทางการหันเลี้ยวให้กับพลขับ เพื่อให้มั่นใจต่อการเคลื่อนที่เข้าหาที่หมายที่ได้เลือกเอาไว้ล่วงหน้า ระบบช่วยนำทางยังช่วยให้ผู้บังคับรถถังสามารถส่งข้อมูล (รวมถึงข้อมูลที่เข้ารหัส) ผ่านทางช่องการติดต่อสื่อสารแบบดิจิทัล โดยใช้ชุดวิทยุมาตรฐานที่ติดอยู่ในรถ คุณสมบัติดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถ ในการควบคุมบังคับบัญชา เพื่อรองรับกับระบบ C4I ในอนาคต

อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร

[แก้]

อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร ระบบสื่อสารประกอบไปด้วยชุดวิทยุความถี่สูงมากแบบ R-030-U และชุดวิทยุความถี่สูงแบบ R-163-50K และยังมีระบบติดต่อ ภายในรถ หรืออินเตอร์คอม (สามารถติดตั้งระบบวิทยุตามที่ลูกค้าต้องการได้ทุกประเภท)

ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันกับประเทศต่าง 

[แก้]

เป็นไปตามความต้องการของลูกค้ารถถังหลักแบบ รถถัง Oplot สามารถติดตั้งอุปกรณ์ได้อย่างหลากหลาย เพื่อสนองตอบตรงกับความต้องการ สิ่งอุปกรณ์เหล่านั้นผลิตโดยโรงงานในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นผู้นำในแต่ละชนิดอุปกรณ์ได้แก่

  • กล้องสร้างภาพด้วยความร้อนผลิตโดยบริษัท THALES ฝรั่งเศส
  • ระบบติดต่อสื่อสารภายในของพลประจำรถ ผลิตโดยบริษัท THALES ฝรั่งเศส
  • ปืนกลผลิตโดย Fn HERSTAL เบลเยียม
  • อุปกรณ์นำทางผลิตโดยบริษัท LITEF เยอรมัน
  • เซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศผลิตโดย บริษัท IRDAM สวิตเซอร์แลนด์

รถถังหลักแบบ Oplot ได้เคยผ่านการทดสอบมาอย่างหนักในหลายภูมิภาคเช่น ตุรกี, มาเลเซีย และกรีซ จากการทดสอบได้แสดงให้เห็นว่ารถถังหลัก Oplot นั้นสามารถปฏิบัติการได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะเป็นในภูมิภาคยุโรป, เอเชียและในที่อื่น ๆ สามารถปฏิบัติการได้อย่างยอดเยี่ยมในทุก ๆ สภาพอากาศ และในทุก ๆ สภาพภูมิประเทศ การออกแบบของรถถัง Oplot เน้นความอ่อนตัวที่สามารถปรับแต่งให้ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้ เพื่อให้เข้ากับภารกิจที่แตกต่างกันออกไป ความอ่อนตัวเพื่อการส่งออกเหล่านี้ได้แก่ ระบบปรับอากาศ, ระบบช่วยนำทางแบบก้าวหน้าของเยอรมัน, ปืนกลร่วมแกน และปืนกลต่อสู้อากาศยานทำในเบลเยียม, ชุดวิทยุที่ออกแบบโดยฝรั่งเศส, อิสราเอล ฯลฯ รถถังถูกออกแบบโดยเน้นระบบเป็นแบบชุดสำเร็จรูป (Modular) ช่วยให้การสับเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว เพื่อสนองตอบปรับเปลี่ยนไปตามภัยคุกคามที่พัฒนาไปไม่หยุดยั้ง เช่น อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถัง หรือแม้แต่การปรับแต่งให้ตรงกับความต้องการของแต่ละกองทัพก็สามารถทำได้ง่าย โดยคงไว้ซึ่งอำนาจการยิง, เกราะป้องกันและความคล่องแคล่วในการเคลื่อนที่ ปัจจุบันมีการพัฒนาปรับปรุงขีดความสามารถทางเทคนิคอยู่หลายรายการ รวมถึง ระบบปฏิบัติการในสนามรบที่ทำงานร่วมกับแผนที่ดิจิทัล ทำให้ผู้บังคับรถมีความเข้าใจสถานการณ์การรบดีขึ้น ทำให้รถถังสามารถตอบสนองความต้องการทางยุทธวิธีได้อย่างรวดเร็ว ลดภาระการทำงานของพลประจำลงรวมถึงความเสี่ยงในการยิงฝ่ายเดียวกัน, ระบบควบคุมติดตามเป้าหมายแบบอัตโนมัติในระบบควบคุมการยิง จะช่วยยกระดับความสามารถในการยิงเป้าหมายที่กำลังเคลื่อนที่ ลดความผิดพลาดในการติดตามเป้าหมายของพลยิงลง, การพิสูจน์ฝ่ายในสนามรบ, ระบบจัดการเครื่องยนต์แบบอิเล็กทรอนิกส์, ระบบติดต่อสื่อสารแบบดิจิทัลระหว่างรถถัง ฯลฯ

ที-84 รุ่นต่าง 

[แก้]
ที-84 โอพลอต-เอ็ม
  • ที-84: พัฒนามาจาก ที-80 ปรับปรุงป้อมปืนและระบบต่อต้าน Shtora-1 ระบบอิเล็กทรอนิกส์ ปืนใหญ่ และเกราะ เครื่องยนต์ 1,200 แรงม้า (895 กิโลวัตต์) 6TD-2 ดีเซล
  • ที-84 ยู: เพิ่มระบบเกราะด้านข้างตัวรถ ระบบเกราะ Kontakt-5 ระบบกำเนิดพลังงานสำรอง, กล้องมองภาพความร้อน, ระบบสื่อสารดาวเทียม, ระบบวัดระยะด้วยเลเซอร์, ระบบควบคุมกระบอกปืน
  • ที-84 โอพลอต: ปรับปรุงมาจากรุ่น ที-84 ยู ปรับปรุงป้อมปืนแบบตะวันตก, ปืนใหญ่ 125 มม. ระบบบรรจุกระสุนอัตโนมัติ
  • ที-84-120 ยาตากัน: โอพลอตรุ่นสำหรับกองทัพตุรกี ติดตั้งปืนใหญ่ 120 มม. มาตรฐานเนโท ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ระบบควบคุมกระบอกปืน ระบบควบคุมการยิง และระบบสื่อสาร
  • ที-84 โอพลอต-เอ็ม (Modernized), หรือ บีเอ็ม โอพลอต: เป็นรุ่นปรับปรุงล่าสุดของ ที-84 โอพลอต โดยการปรับปรุงเกราะป้องกันให้หนาขึ้น ระบบอิเล็กทรอนิกส์, ระบบตอบโต้ ติดตั้งกล้องตรวจการรอบตัว PNK-6[19]

ประเทศผู้ใช้งาน

[แก้]
แผนที่โลกที่แสดงประเทศที่ใช้รถถัง ที-84 ในสีน้ำเงิน

คุณสมบัติ T-84 Oplot M (Object 478 DU9-1)

[แก้]

คุณลักษณะทางเทคนิคของรถถัง OPLOT ประเภท: รถถังหลัก (Main Battle Tank : MBT)

  • น้ำหนักรวม: 51 ตัน ±3%
  • พลประจารถ: 3 นาย
  • อัตราส่วนกำลังต่อน้าหนัก: ไม่ต่ำกว่า 17.5 กิโลวัตต์/ตัน (23.5 แรงม้า/ตัน)
  • น้ำหนักกดบนพื้นดิน : ระหว่าง 0.097 MPa ( 0.097 กก./ซม.2)
  • ย่านอุณหภูมิใช้งาน : −40 ถึง +55 องศาเซลเซียส

ความยาว:

  • ปืนใหญ่ชี้ไปข้างหน้า 9,720 มม.
  • ปืนใหญ่หันไปข้างหลัง 9,750 มม.
  • ตัวรถ 7,075 มม.

ความกว้าง:

  • ไม่รวมชายน้ำด้านข้างแบบถอดได้ 3,400 มม.
  • รวมชายน้ำด้านข้างแบบถอดได้ 4,275 มม.
  • สูง วัดถึงกล้องตรวจการณ์ผู้บังคับรถ 2,800 มม.
  • ความยาวของสายพานบนพื้น 4,290 มม.
  • ท้องรถสูงพ้นพื้น 470–500 มม.
  • สายพาน 2,800 มม.

อาวุธ :

  • ปืนใหญ่ลำกล้องเรียบแบบ 2A46M-1 (KBA-3) ขนาด 125 มม. 1 กระบอก (สามารถยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังได้)
  • ปืนกลร่วมแกนแบบ PKT (KT-7.62) ขนาด 7.62 มม. 1 กระบอก
  • ปืนกลแบบ NSVT (KT-12.7) ขนาด 12.7 มม. 1 กระบอก
  • เครื่องยิงลุกระเบิดควัน 12 ท่อยิง

ความเร็วในการเคลื่อนที่ :

  • เฉลี่ย (บนถนนดินธรรมชาติ) 40–45 กม./ชม.
  • สูงสุด (บนถนนพื้นแข็ง) 70 กม./ชม.
  • เมื่อใช้เกียร์ถอยหลัง :
  • ต่ำสุด 4.8 กม./ชม.
  • สูงสุด 31.3 กม./ชม.

ความสิ้นเปลืองน้ามันเพลิงต่อ 100 กม.

  • บนถนนดินธรรมชาติแห้ง 325–370 ลิตร
  • บนถนนผิวแข็ง ไม่เกิน 300 ลิตร

ระยะปฏิบัติการ :

  • บนถนนดินธรรมชาติ :
  • ใช้น้ำมันเชื่อเพลิงจากถังหลัก 350 กม.
  • ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากถังอะไหล่เพิ่ม 450 กม.
  • บนถนนผิวแข็ง :
  • ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากถังหลัก 400 กม.
  • ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงจากถังอะไหล่เพิ่ม 500 กม.
  • การข้ามเครื่องกีดขวาง :
  • ลาดชัน 58 องศา
  • ลาดทางข้าง 25 องศา
  • คู กว้าง 2.85 เมตร
  • เครื่องกีดขวางแนวตั้ง (สูง) 1 เมตร
  • ลุยน้ำลึก (โดยไม่ต้องเตรียมการ) 1.8 เมตร
  • ลุยน้ำลึกโดยใช้อุปกรณ์ลุยน้ำ 5 เมตร โดยไม่จำกัดความกว้าง และระยะทาง

กระสุน :

  • กระสุนสำหรับปืนใหญ่รถถัง: ทั้งหมด 46 นัด (28 นัดในช่องใส่กระสุนพร้อมยิง (Carouselle) สำหรับเครื่องบรรจุกระสุนอัตโนมัติ)
  • ชนิดของกระสุนปืนใหญ่รถถัง:
  • กระสุนเจาะเกราะทรงตัวด้วยครีบหางสลัดทิ้งเอง APDSFS ระยะยิงหวังผล 2,800 เมตร
  • กระสุนระเบิดแรงสูงแรงสูงต่อสู้รถถัง HEAT ระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร
  • กระสุนระเบิดแรงสูงแรงสูงมีสะเก็ด HE-FRAG ระยะยิงหวังผล 2,600 เมตร
  • อาวุธนำวิถีต่อสู้รถถังแบบ Kombat ระยะยิงหวังผล 5,000 เมตร

กระสุนสำหรับอาวุธอื่น ๆ:

  • ปืนกลร่วมแกน KT–7.62 จำนวน 1,250 นัด
  • ปืนกลต่อสู้อากาศยาน KT–12.7 จำนวน 450 นัด
  • ปืนไรเฟิลแบบ AKS จำนวน 450 นัด
  • กระสุนปืนยิงพลุสัญญาณ จำนวน 12 นัด
  • ระเบิดมือแบบ F-1 จำนวน 10 ลูก
  • ระเบิดสำหรับสร้างฉากควัน จำนวน 12 ลูก

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Україна здійснить експортну поставку одного танку «Оплот» до США [Ukraine to export one Oplot Tank to USA]. Оборонно-промисловий кур'єр. 28 กุมภาพันธ์ 2018.
  2. 2.0 2.1 "EEUU compra un tanque ucraniano del Ejército Rojo y este podría ser el motivo". Sputnik Mundo (ภาษาสเปน). 3 มีนาคม 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 มิถุนายน 2018. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2018.
  3. 3.0 3.1 The Military Balance 2010 (1st ed.). Routledge. 3 February 2010. p. 184. ISBN 978-1-857-43557-3.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 "The BM Oplot main battle tank". Kharkiv Machine Building Design Bureau named after A.A. Morozov. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2024.
  5. "ТИУС" (PDF). Lviv Radio Engineering Research Institute. p. 71.
  6. "Gunner's Tank Sights 1G46, 1G46M". RPC «Photoprylad». เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014.
  7. "9K119 REFLEKS". kotsch88.de (ภาษาเยอรมัน).
  8. Gordienko Valentin Ivanovich and co, Ukraine patent No. 15, 2009.
  9. "TPN-4". kotsch88.de (ภาษาเยอรมัน).
  10. Khonchenko Oleksi Yakovich and co, Ukraine patent No. 10, 2002.
  11. "Thermal Sighting Tank Complexes «Buran-Matis», «Buran-Catherine»". RPC «Photoprylad» (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มกราคม 2015. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014.
  12. 12.0 12.1 Гордиенко, В. И.; Хомченко, А. Я. (2010). Особенности интегрирования панорамного прицельного комплекса в систему управления огнем танка (PDF). Інтегровані технології та енергозбереження. 3: 57–63. ISSN 2078-5364.
  13. Размышления на тему «Оплот» и Т-90. btvt.narod.ru (ภาษารัสเซีย).
  14. "Active Protection Systems, Armament Control Systems & Explosive Reactive Armour". SpetsTechnoExport (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014.
  15. "Головки /Датчики/ Регистрации Факта ЛАЗЕРНОГО Облучения Объекта". феодосийский Казенный Оптический Завод (ภาษารัสเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-10-12. สืบค้นเมื่อ 2014-11-05.
  16. 16.0 16.1 16.2 "Комплекс оптико-электронного подавления «Штора-1»". btvt.narod.ru (ภาษารัสเซีย).
  17. "Система оптико-электронной защиты от высокоточного оружия ТШУ-1-2А". НПО Электромашина (ภาษารัสเซีย). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2014. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014.
  18. ГД-1 (ภาษายูเครน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2014.
  19. "Panoramic Tank Sighting Complex (PNK-6)". RPC «Photoprylad» (ภาษาอังกฤษ). 17 ตุลาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2009. สืบค้นเมื่อ 15 พฤษภาคม 2013.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]