ตรูบาดู
ตรูบาดู (อุตซิตา: trobador) หรือ ทรูบาดูร์ (ฝรั่งเศส: troubadour) คือกวีนักดนตรีที่ประพันธ์คีตกานท์เป็นภาษาอุตซิตาเก่าในสมัยกลางตอนกลาง (ค.ศ. 1100–1350) เนื่องจากคำว่า ตรูบาดู ในทางศัพทมูลวิทยาเป็นเพศชาย จึงมักเรียกตรูบาดูที่เป็นผู้หญิงว่า ตรูไบริตส์
สำนักหรือธรรมเนียมตรูบาดูเริ่มขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในอุตซิตานิยอ แต่ต่อมาได้แพร่กระจายไปยังอิตาลีและสเปน ด้วยอิทธิพลจากเหล่าตรูบาดู ขบวนการที่เกี่ยวข้องกันได้เกิดขึ้นทั่วยุโรป เช่น มินเนอซัง ในเยอรมนี, ตรูวาดูริชมู ในกาลิเซียและโปรตุเกส และ ทรูแวร์ ในภาคเหนือของฝรั่งเศส ดันเต อาลีกีเอรี นิยามคีตกานท์ของตรูบาดูว่าเป็น "บันเทิงคดีเชิงวาทศิลป์ ดนตรี และร้อยกรอง" (ละติน: fictio rethorica musicaque poita) หลังจากสมัย "คลาสสิก" ในช่วงเปลี่ยนสู่คริสต์ศตวรรษที่ 13 และการฟื้นตัวในช่วงกลางศตวรรษ ศิลปะของตรูบาดูก็เสื่อมลงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และสูญไปในช่วงกาฬมรณะ (ค.ศ. 1348)
เนื้อร้องของตรูบาดูมีแก่นเรื่องหลัก ๆ เกี่ยวกับคุณสมบัติของอัศวินและรักเทิดทูน โดยส่วนใหญ่เป็นแนวอภิปรัชญา พุทธิปัญญา และสูตรสำเร็จ และหลายเนื้อร้องเป็นเรื่องชวนหัวหรือการเสียดสีอย่างหยาบโลน ผลงานของตรูบาดูสามารถแบ่งออกเป็นสามลีลา ได้แก่ ตรูบาแล็ว (เบา), ตรูบาริก (รุ่มรวย) และ ตรูบากลึส (ปิด) ในทำนองเดียวกันนั้นยังแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ กันซู แต่ ซีร์เว็นเต็ส และ เต็นซู เป็นที่นิยมโดยเฉพาะในช่วงหลังสมัยคลาสสิก